ไทย สมายล์ บัส คาดหวัง 3 ปัจจัยดันรายได้ครึ่งหลังปี 67 พุ่ง 260 ล้านบาท/เดือน จากปัจจุบันที่มี 150 ล้านบาท/เดือน จัดรถ 389 คัน 14 เส้นทางทดแทนขสมก.ที่ถอนรถตามแผนปฎิรูป เสนอขบ.ยืดวิ่ง 116 เส้นทางรองรับจุดผู้โดยสารหนาแน่น
นายวรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการและกลยุทธ์ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB ) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดหมายรายได้ในช่วงครึ่งหลังปี 67 ว่าจะมีรายได้เพิ่มเป็น 260 ล้านบาท/เดือน จากปัจจุบันที่มี รายได้ประมาณ 150 ล้านบาทต่อเดือน
โดยมี 3 ปัจจัยสนับสนุนได้แก่ 1. บริษัทฯ จะทำการเดินรถใน 14 เส้นทางสุดท้ายตามแผนปฎิรูปรถโดยสารในกทม.และปริมณฑล ที่ปัจจุบัน มีการวิ่งทับซ้อน ซึ่งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะยกเลิกการเดินรถ ในวันที่ 24 ก.ค. นี้เป็นต้นไป ซึ่งคาดหมายว่า จะทำให้สามารถเพิ่มรายได้อีก 30 ล้านบาท/เดือน และคาดผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น ทั้ง 14 เส้นทางนี้ประมาณ 5 หมื่นคน -1 แสนคน/วัน
2. จากการปรับปรุงเส้นทางจำนวน 116 เส้นทาง จากทั้งหมด 123 เส้นทางในแผนปฎิรูป โดยเสนอกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พิจารณาขยายเส้นทางวิ่งไกลมากขึ้นแต่ไม่เกิน 10 กม.ทั้งนี้ เพื่อรองรับพื้นที่ที่มีชุมชนหนาแน่นได้มากขึ้น โดยคาดว่าหากได้ปรับปรุงเส้นทางแล้วจะสามารถเพิ่มรายได้อีก 80 ล้านบาท/เดือน
บริษัทมีแผนขยายส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มเป็น 50%ในปลายปี 67 จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาด 30% โดยจะเพิ่มจำนวนรถจากปัจจุบัน 1,500 คัน เป็น 1,900 คันในไตรมาส 4/67 และคาดจะเพิ่มเป็น 2,350 คัน ในไตรมาสแรกปี 68 โดยจะจัดสรรเพิ่มในเส้นทางเดิมที่มีจำนวนผู้โดยสารหนาแน่น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ
“ในการเสนอขอปรับปรุงเพื่อขยายเส้นทางนั้น บริษัท มีทีมลงสำรวจศึกษา เส้นทางและจุดใหญ่ๆ ที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น ซึ่งต้องให้กรมขนส่งฯพิจารณาในเรื่องการทับซ้อนกับ ขสมก. และการปรับปรุงได้อย่างไรก่อน”นายวรวิทย์ กล่าว
ปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ย 3,400 บาท/วัน/คัน โดยเส้นทางที่มีรายได้ต่ำสุดอยู่ที่ 1,500 บาท/วัน/คัน และรายได้สูงสุด กว่า 3,500 บาท/วัน/คัน เช่นสาย 8 และ สาย140 อย่างไรก็ดี จุดคุ้มทุน ที่รวมต้นทุนการเงินอยู่ที่ 7,000 บาท/วัน/คัน”นายวรวิทย์ กล่าว
พร้อมรับไม้ต่อขสมก.เตรียมรถ กว่า 389 คัน บริการใน 14 เส้นทาง
ด้าานางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด กล่าวว่า หลังจากผู้ประกอบการรายเดิมถอดถอนรถให้บริการตามแผนปฎิรูป บริษัท ได้เตรียมแผนที่จะนำรถเมล์ปรับอากาศพลังงานไฟฟ้าออกมาให้บริการใน 14 เส้นทาง โดยเบื้องต้นได้เตรียมรถให้บริการเพิ่มอีกกว่า 389 คัน และจะทยอยเพิ่มจำนวนต่อเนื่อง ยืนยันมีความพร้อมในการให้บริการประชาชนในเส้นทางทั้งหมด
สำหรับเส้นทางที่ผู้ประกอบการรายเดิมแจ้งหยุดให้บริการในเดือนกรกฎาคมนี้มีทั้งสิ้น 14 เส้นทาง ประกอบด้วย สาย 3-36(4) ท่าน้ำภาษีเจริญ – ท่าเรือคลองเตย, สาย 4-17(88) วัดคลองสวน – ลาดหญ้า, สาย 3-37(12) ห้วยขวาง – ปากคลองตลาด, สาย 4-56(165) พุทธมณฑลสาย 2 – ถนนศาลาธรรมสพน์ – สำนักงานเขตบางกอกใหญ่, สาย 1-39(71) สวนสยาม – วัดธาตุทอง, สาย 3-1(2) สำโรง – ปากคลองตลาด, สาย 3-35(1) ถนนตก – ท่าเตียน, สาย 3-45(77) สาธุประดิษฐ์ – สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ(จตุจักร), สาย 4-15(82) พระประแดง – บางลำภู, สาย 4-46(84) สถานีรถไฟฟ้าวงเวียนใหญ่ – สามพราน, สาย 4-61(515) สถานีรถไฟฟ้าพญาไท – หมู่บ้านเอื้ออาทรศาลายา, สาย 3-3(11) อู่เมกา บางนา – มาบุญครอง, สาย 3-6(25) ท่าช้างวังหลวง – อู่สายลวด, และสาย 4-44(80ก.) วปอ.11-สวนหลวงพระราม8 โดยในส่วนของสาย 3-36(4), สาย 4-15(82), สาย 4-46(84) และสาย 3-6(25) ไทย สมายล์ บัส จะเดินรถให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง